Hare Krishna Hare Krishna Krishna Krishna Hare Hare Hare Ramฮะเร คริชณะ ฮะเร คริชณะ คริชณะ คริชณะ ฮะเร ฮะเร ฮะเร รามะ ฮะเร รามะ รามะ รามะ ฮะเร ฮะเร
Sunday, October 18, 2009
สี่กุมารเป็นผู้ภักดีของพระวิษณุ
พระฤษีทั้ง ๔ มีสนกะฤษีเป็นหัวหน้า แลเห็นพระวิษณุมาปรากฏให้เห็นต่อหน้าต่อตา ซึ่งแตกต่างจากแต่หนหลังที่พระองค์จะมาปรากฏในจิตขณะที่เข้าฌานเท่านั้น
พระวิษณุเสด็จตรงเข้ามาพร้อมกับหมู่เทพบริวาร พรั่งพร้อมด้วยเครื่องอิสริยศต่างๆเป็นต้นว่า ฉัตร พัดจามร เป็นต้น แลเห็นขนหางจามรีสีขาวบนพัดจามรปลิวไสวดุจหงส์สองตัวกำลังเหินบิน ส่วนไข่มุกที่ประดับอยู่กับฉัตรเมื่อต้องลมก็สั่นไหวไปมาแลดูแล้วดุจน้ำทิพย์หยดหยาดจากจันทร์เพ็ญ หรือดุจเกร็ดน้ำแข็งที่ละลายเมื่อโดนลมแรงฉะนั้น
พระวิษณุเป็นแหล่งรวมความเพลิดเพลินเจริญใจ การมาปรากฏกายของพระองค์จึงมีความหมายบ่งบอกถึงมิ่งมงคลแก่ทุกคน รอยแย้มยิ้มและดวงเนตรอันมีเสน่ห์ของพระองค์แลดูแล้วเกิดความประทับตาตรึงใจ พระองค์มีสีวรกายเป็นสีดำงดงามยิ่ง มีพระอุระกว้างใหญ่เป็นที่พำนักของเจ้าแม่แห่งความโชคดี
พระวิษณุทรงแผ่ความงดงามและความโชคดีมีชัยให้แก่โลกทิพย์ ทรงคาดสะอิ้งทอประกายวาววับทับเครื่องทรงสีเหลืองรอบพระโสภี(สะโพก) พระศอคล้องมาลัยดอกไม้สดซึ่งมีหมู่แมลงผึ้งตอมอยู่ทั่ว ข้อพระกรงามทั้งสองข้างสวมวลัยงามเด่นเป็นสง่า พระกรหนึ่งจับอยู่ที่ไหล่ของพญาครุฑยานพาหนะประจำองค์ พระกรอีกข้างหนึ่งทรงดอกบัว มีพระพักตร์โดดเด่นพระปรางทั้งสองข้างงดงามยิ่ง
พระกรรณยุคลรูปจระเข้ที่พระกรรณทอแสงประกายแวววับดุจสายฟ้า พระนาสิกโด่งงาม พระเศียรสวมมงกุฎฝังอัญมณี พระพาหาทั้งสองข้างสวมสร้อยสังวาลงามตา พระศอประดับประดาด้วยอัญมณีที่มีชื่อว่า เกาสตุภา ความงามอันเพริศพริ้งขององค์พระวิษณุเป็นความงามที่สุดจะพรรณนา มีเสน่ห์ดึงดูดใจยิ่งกว่าความงามของเจ้าแม่แห่งความโชคดีที่ถือกันว่างามเป็นที่สุดแล้ว
สี่กุมารฤษีจ้องมองพระวิษณุด้วยความชื่นชมในความงามอยู่นาน จากนั้นก็ได้ก้มกายลงซบลงคารวะบทบงกชของพระองค์ ครั้นเมื่อสายลมโชยกลิ่นของใบ ตุสี ออกมาจากนิ้วพระบาทบงบชมาปะทะจมูก ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจของสี่กุมารในทันที
พระพักตร์ของพระวิษณุปรากฏแก่สายตาของ ๔ กุมารดุจเกสรบัวขาบ รอยแย้มยิ้มปรากฏดุจมะลิแย้ม เมื่อยลพักตร์ของพระวิษณุแล้ว พระฤษีทั้ง ๔ ก็เกิดความปีติปราโมชอิ่มเอิบใจ ครั้นเมื่อทองงเบื้องล่างเล่าก็แลเห็นเล็บนิ้วพระบาทบงกชงดงามคล้ายสีทับทิม เมื่อ ๔ พระฤษีมองร่างของพระวิษณุครั้งแล้วครั้งเล่าแล้ว จิตก็พลันรวมเป็นหนึ่งเดียวเป็นจิตเตกัคคตา.
แหล่งข้อมูลภาพ
Wednesday, October 14, 2009
สี่กุมารท่องแดนไวกุณฑ์
สี่พระฤษีผู้ยิ่งใหญ่ คือ สนกะกุมาร สนาตนะกุมาร สนันตนะกุมาร และสนัทกุมาร เมื่อท่องถึงเทพนครไวกุณฑ์บนโลกสวรรค์ด้วยพลานุภาพแห่งโยคะลี้ลับแล้ว ก็ได้พบกับความสุขอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน ได้แลเห็นท้องฟ้าบนโลกสวรรค์สว่างไสว คลาคล่ำไปด้วยยานบินทิพย์ ที่ประดับประดาอย่างเพริศพริ้ง มีผู้ภักดีต่อพระกฤษณะเป็นผู้ขับขี่บินว่อนอยู่ทั่ว โลกสวรรค์แห่งนี้มีพระกฤษณะเป็นจอมเทพผู้ครอบครอง
เมื่อผ่านพ้นประตู ๖ ชั้นของเทพนคร”ไวกุณฑบุรี”อันเป็นที่ประทับของพระกฤษณะนี้ไปแล้ว สี่กุมารผู้เป็นมหาฤษีผู้ยิ่งใหญ ก็มาพบเทพผู้มีกายฉายรัศมีสว่างไสว มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันสององค์ตรงที่ประตูชั้นที่ ๗
เทพผู้รักษาประตูทั้งสององค์นี้ ในมือถือคทาประดับตกแต่งกายด้วยตุ้มหู เพชรนิลจินดา ชฎา และเครื่องแต่งกายซึ่งล้วนแล้วแต่ของล้ำค่าทั้งสิ้น สวมมาลัยดอกไม้สด มีหมู่ผึ้งมารุมตอมดูดน้ำหวานอยู่ยั้วเยี้ย พวงมามัยนั้นสวมอยู่รอบคอและห้อยย้อยลงมาอยู่หว่างกรสีน้ำเงินทั้ง ๔ ข้าง ดูจากกิริยาอาการที่เลิกคิ้ว จมูกเชิด ตาแดงกร่ำ ก็รู้ได้ว่า เทพทั้งสององค์นี้ได้เกิดความโกรธขึ้นมาแล้ว.
แหล่งข้อมูลภาพ
ประหลาทมหาราชสอนเพื่อน
ประหลาทมหาราช ได้สอนเหล่าสหายซึ่งเป็นบุตรของอสูรโดยได้เน้นว่า
“สิ่งมีชีวิตทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในสังคมมนุษย์นั้น จะต้องให้ความสนใจในการฝึกฝนจิตภาวนาตั้งแต่เยาว์วัย องค์จอมเทพพระกฤษณะเป็นเทพที่บุคคลพึงบูชา บุคคลไม่พึงสนใจในโลกียสุขมากนัก ควรพอใจกับสิ่งที่หาได้โดยง่าย อายุของมนุษย์แสนสั้น จึงควรใช้เวลาในทุกขณะเพื่อพัฒนาจิตใจ”
บางคนอาจเข้าใจผิดไปว่า
“ในช่วงวัยต้นของชีวิต ควรที่เราจะหาความสุขทางโลก ต่อเมื่อถึงวัยชรา จึงค่อยหันเข้าหา กฤษณะสำนึก(จงรักภักดีต่อพระกฤษณะ)”
ความคิดแบบโลกๆเช่นว่านี้ ไร้ประโยชน์และไม่เข้าท่า เพราะเมื่อย่างถึงวัยชราเสียแล้ว บุคคลก็จะไม่สามารถฝึกฝนตนเองในทางธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุนี้ มนุษย์เราจึงควรแสดงความจงรักภักดีต่อจอมเทพพระกฤษณะเสียแต่ในวัยต้นของชีวิต เพราะนี่คือภาระหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลก ความสุขทางโลกนั้ไม่ยั่งยืน มีแค่ชั่วประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ส่วนความสงบสุขทางธรรม เป็นสิ่งพึงประสงค์ในสังคมมนุษย์ เป็นสิ่งเหนือโลก เป็นโลกุตระ.
แหล่งข้อมูลภาพ
พฤติกรรมอันน่ารังเกียจของนาลกูวระและมณิครีวะ
นาลกูรวะและมณิครีวะ บุตรของกุเวร เป็นผู้จงรักภักดีต่อองค์พระศิวะ ทั้งสองคนมีฐานะมั่งคั่งแต่มีนิสัยสำรวยสุรุ่ยสุร่าย ชอบเที่ยวเตร่สำมะเลเทเมา ขาดสติยับยั้งชั่งคิด มีอยู่วันหนึ่ง ก็ถึงกับไปเปลือยกายเล่นน้ำอยู่กับผู้หญิงโดยไม่ละอายแก่ใจ
ท่านนารทมุนีเดินทางผ่านมาทางนั้นพอดี แต่เพราะความเย่อหยิ่งจองหองในเกียรติยศและความร่ำรวยมั่งคั่ง แม้ทั้งสองคนจะแลเห็นท่านนารทมุนีเดินมา ก็ยังไม่นึกละอายแก่ใจ ซ้ำร้ายไม่ยอมขึ้นจากน้ำมาสวมใส่เสื้อผ้าให้เป็นที่เรียบร้อย ยังคงเปลือยกายแช่อยู่ในน้ำต่อไป
ก็เพราะความร่ำรวยและความเย่อหยิ่งในเกียรติยศนั่นเอง ทำให้คนทั้งสองขาดสำนึกว่าอะไรบังควรและอะไรไม่บังควร ธรรมชาติของคนในโลกมนุษย์ก็จะเป็นอย่างนี้กันทั้งนั้น คือเมื่อยามมีฐานะร่ำรวยมีเกียรติยศมีบารมีมากๆแล้ว ก็มักจะไร้มารยาท ไม่สนใจใยดีผู้อื่น ดูเอาเองก็แล้วกัน แม้จะเป็นถึงบุคคลสำคัญยิ่งอย่างท่านนารทมุนี ทั้งสองคนก็มิได้ให้ความสำคัญแม้แต่น้อย คนที่หลงลืมตัวขนาดลบหลู่เกียรติผู้ภักดีต่อพระกฤษณะได้เช่นนี้ จะเข็ดหลาบได้ก็ต่อเมื่อได้ถูกลงโทษทัณฑ์ ให้กลับไปมีฐานะยากจนคนแค้นเหมือนเดิมแล้วเท่านั้น
ว่ากันว่า เราสามารถสอนคนจนๆให้เข้าใจได้ง่ายว่า อันเกียรติภูมิที่เกิดจากฐานะอันมั่งคั่งในโลกนี้เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน แต่สำหรับคนกับคนที่ร่ำรวยนั้น เราจะไม่สามารถสอนให้เขาเข้าใจเช่นว่าได้
ดังนั้น ท่านนารทมุนีไม่ต้องการให้ผู้ใดถือเอาเป็นเยี่ยงอย่างสืบต่อไป จึงได้สาปนาลกูรวะและมณิครีวะ ให้กลายเป็นต้นไม้ ซึ่งเป็นการลงโทษทัณฑ์ที่สาสมกับความผิดแล้ว
แต่ด้วยเหตุที่พระกฤษณะมีแต่ความเมตตาปรานี ถึงแม้ว่าคนทั้งสองจะถูกลงโทษทัณฑ์ไปแล้ว แต่กระนั้นก็ยังมีความโชคดีพอจะมีโอกาสได้พบกับองค์จอมเทพกฤษณะได้ เพราะการลงโทษโดย ไวษณวะ(ผู้นับถือพระวิษณู) มิใช่การลงโทษที่แท้จริง หากแต่เป็นการแสดงออกถึงความเมตตาปรานีในอีกรูปแบบหนึ่ง
ด้วยอานุภาพคำสาปของท่านเทพนารทมุนี ทั้งนาลกูรวะ และมณิครีวะ ก็ได้กลายร่างจากมนุษย์เป็นต้นไม้ ไปอยู่ที่สนามหญ้าหน้าบ้านของนางยโศทา และนันทมหาราชา(บิดามารดาของพระกฤษณะ) เพื่อรอโอกาสพบกับพระกฤษณะ ซึ่งกาลต่อมาก็ปรากฏว่า พระกฤษณะได้สนองความปรารถนาของผู้จงรักภักดี ด้วยการไปถอนต้นไม้ “ยม” และต้นไม้ “อรชุน” ทั้งคู่นี้
เมื่อนาลกูวระและมณิครวะ ถูกพระกฤษณะช่วยเหลือปลดเปลื้องให้พ้นคำสาปในอีกร้อยปีต่อมานั้น ปรากฏว่าจิตของคนทั้งสองที่ได้กลายร่างจากต้นไม้เป็นมนุษย์ดังเดิม ได้กลับกลายมาเป็นจิตที่บริสุทธิ์ผุดผ่องดังเดิม ทั้งสองจึงได้สวดสรรเสริญคุณของพระกฤษณะ
หลังจากที่มีโอกาสได้พบกับพระกฤษณะแล้ว นาลกูวระและมณิครีวะก็เข้าใจในความกรุณาปรานีของท่านนารทมุนี และก็มีความรู้สึกว่าตนเป็นหนี้บุญคุณ จึงได้แสดงความขอบคุณ และเมื่อแสดงความเคารพด้วยการเดินประทักษิณ(เวียนขวา) รอบพระกฤษณะแล้ว คนทั้งสองก็ได้เดินทางกลับไปยังสถานพำนักของตนๆ.
แหล่งข้อมูลภาพ
Labels:
Manigriva,
Nalakuvara,
นาลกูวระและมณิครีวะ,
อานุภาพจอมเทพกฤษณะ
นารทมุนี มนุษย์อวกาศในแดนทิพย์
เมื่อยุคที่แล้ว (ทวาปรยุค) ล่วงไปได้ราวสี่พันสามร้อยยี่สิบล้านปี ตำนานบอกว่า พระพรหมาได้ตื่นขึ้นมาเพื่อสร้างโลก สร้างสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง
ด้วยเจตจำนงของพระพรหมานี่เอง พระฤษีทั้งปวง เช่น ท่านมรีจิ ท่านอังคีรา และท่านอตริ เป็นต้น ก็ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจากกายทิพย์ของพระพรหมา แม้แต่ท่านนารทมุนีเองก็ได้ปรากฏกายขึ้นมาพร้อมๆกับประดาฤษีเหล่านั้นด้วย
นับแต่นั้นมา ด้วยมหิทธานุภาพดลบันดาลของพระวิษณุ นารทมุนีก็สามารถท่องเที่ยวไปได้ทั่วทุกแห่งหน โดยไม่มีขีดจำกัดใดๆทั้งในโลกมนุษย์และในโลกมนุษย์ ทั้งนี้ก็เพราะท่านนารทมุนี มีความจงรักภักดีอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายต่อองค์พระวิษณุนั่นเอง
พระนารทมุนีเที่ยวสัญจรขับลำนำเพลงประกาศเกียรติคุณของพระวิษณุ พร้อมกับเล่นพิณทิพย์ที่พระกฤษณะประทานมาให้ด้วย ซึ่งพิณของพระนารทมุนีและพิณของพระกฤษณะนี้ เป็นพิณทิพย์ชนิดเดียวกัน และเสียงของพิณที่ดังออกมาก็มิใช่เสียงพิณธรรมดาในโลกมนุษย์ ส่วนเกียรติภูมิของพระกฤษณะที่ดังออกมาจากพิณของนารทมุนีนั้นเล่า ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องทิพย์เรื่องสรวงสวรรค์ ปราศจากสิ่งประโลมโลกีย์ใดๆทั้งสิ้น
นารทมุนีเป็นผู้ภักดีต่อองค์พระกฤษณะ ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เพื่อให้สมกับที่พระกฤษณะได้ประทานพิณนี้มาให้เป็นรางวัล ได้บรรเลงเพลงสวรรค์สรรเสริญเกียรติคุณของพระกฤษณะอยู่มิได้ขาด
สำหรับคนอื่นๆในโลกมนุษย์ หากต้องการจะดำเนินตามรอยท่านนารทมุนีบ้าง ก็ควรใช้ท่วงทำนองดีดที่เหมาะสมถูกต้อง คือ สะ, ฤ, คะ, มะ เป็นต้น ยามเมื่อจะดีดพิณถวายความจงรักภักดีแด่องค์พระกฤษณะ ไปพร้อมๆกับเพลงสรรเสริญคุณของพระกฤษณะ ดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ภควัทคีตานั่นแล.
แหล่งข้อมูลภาพ
Subscribe to:
Posts (Atom)
Custom Search